สมาชิกอาเซียน เดินหน้าพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำร่วมกันโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า พร้อม น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาประยุกต์ใช้
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาอาเซียน ภายในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ หรือ International Conference on Water Demand Management among Competing Sectors โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และสมาชิกอาเซียนบวกสาม คือ ประเทศจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุม ว่า ตลอดระยะเวลา 50 ที่ผ่านมาภูมิภาคอาเซียนถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากบนเวทีระดับโลกที่แสดงให้ประเทศมหาอำนาจเห็นว่าวิสัยทัศน์และการร่วมทำการค้ากับอาเซียนที่มีมูลค่าสูงและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศกลุ่มอาเซียนมาโดยตลอด ส่งผลให้การค้าในโลกเติบโตและเพิ่มขึ้น เพราะการค้าขายระหว่างอาเซียนกับโลกจะมีมูลค่ามากกว่าการค้าขายระหว่างอาเซียนกับอาเซียนที่เติบโตเพียงร้อยละ 25 โดยทุกประเทศในอาเซียนต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและซื้อขายระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากจากการเป็นสมาชิกอาเซียนมาก ดูได้จากตัวเลขปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่เติบโตต่อเนื่องถึงร้อยละ 12-13 ต่อปี เช่น มาเลเซีย ลาว เมียนมา ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศยุโรปอยู่ในสภาวะติดลบ สำหรับการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น 4.0 จะสำเร็จได้ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีไปพร้อมกันสู่กระบวนการผลิต ควบคู่กับการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ เป็นโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมากกว่า 2,900 โครงการ ด้วยการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมและสร้างความพร้อมให้เป็นภูมิคุ้มกันการเผชิญปัญหาต่างๆของโลก ทั้งนี้ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ความต้องการใช้กลับมีสูงกว่าทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ เพราะทุกภาคส่วนทุกอุตสาหกรรมต้องใช้น้ำทั้งหมดในกระบวนการผลิต
อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวย้ำว่า อาเซียน ได้ให้ความสำคัญเรื่องน้ำให้เป็นวาระของอาเซียนด้วยการให้ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ และอาเซียนบวกสาม ต้องร่วมมือกันบริหารจัดการน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแค่ภายในประเทศเท่านั้น เพื่อป้องกันการแย่งชิงน้ำที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแนวทางที่เป็นไปได้ คือ การแบ่งปันการใช้น้ำร่วมกัน การผันน้ำ และการรักษาทรัพยากรน้ำที่มีจำกัดให้เพียงพอใช้ในอนาคตอีก 50 ปี