เทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติ แม้เกิดขึ้นมานานแล้วแต่สำหรับคนจำนวนมากที่ไม่ได้ติดตาม ยังมองเป็นลูกเล่นหนึ่งในงานขึ้นรูปพลาสติก และอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง แต่ด้วยสิทธิบัตรสำคัญๆ ที่กำลังทยอยออกมาในปีนี้ เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ที่สามารถผสมผสานโลหะ ไม้และเส้นใยผ้า กำลังจะเป็นเครื่องใช้ที่ซื้อหากันได้แพร่หลายนั้น ผู้สันทัดกรณีชี้ว่าไม่เพียงจะเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ในโลกวิศวกรรม ด้วยการทำให้การออกแบบอย่างเหลือเชื่อเป็นจริงได้เท่านั้น แต่จะเป็นการปฏิวัตินโยบายการต่างประเทศ และอุตสาหกรรมกองทัพเลยทีเดียว
อเล็กซ์ เชาซอฟสกี นักวิเคราะห์ของไอเอชเอสเทคโนโลยี กล่าวว่า กองทัพสหรัฐกำลังลงทุนขนานใหญ่ เพื่อพยายามพิมพ์เครื่องแบบขึ้นรูปผิวหนังสังเคราะห์ที่สามารถรักษาบาดแผลทหารจากการสู้รบได้ หรือแม้กระทั่งขึ้นรูปอาหาร
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ 4 มิติออกมาแล้ว เพื่อสร้างวัสดุที่จะเปลี่ยนสภาพเมื่อสัมผัสกับสารต่างๆ เช่นน้ำ ซึ่งในอนาคต อาจจะนำไปสู่การพิมพ์เครื่องแบบที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อม เพราะขณะนี้ บริษัทบีเออีซิสเต็มส์ของอังกฤษ สามารถขึ้นรูปชิ้นส่วนโลหะของเครื่องบินขับไล่ทอร์นาโดได้แล้ว
และในระยะยาว แมตต์ สตีเฟนส์ หัวหน้าแผนกการพิมพ์สามมิติของบีเออี กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าจะผลิตอากาศยานทั้งลำได้ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ
การปฏิวัติการพิมพ์แบบสามมิติที่แท้จริง อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องการจะขึ้นรูป แต่เป็นสิ่งที่จะขึ้นรูปนั้น ทำที่ไหน
ปีเตอร์ ดับเบิลยู ซิงเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญสงครามในอนาคต ที่มูลนิธิอเมริกันใหม่ กล่าวว่า การนำเครื่องพิมพ์ไปยังสมรภูมิได้ จะเขย่าอุตสาหรรมการทหารและการสงครามอย่างแน่นอน
ปัจจุบัน ผู้รับเหมาที่ต้องการจะขายอะไรสักชิ้นให้นั้น ต้องการจะเป็นเจ้าของห่วงโซ่การผลิตไปอีก 50 ปี แต่ปัจจุบัน ทหารที่ประจำการประเทศอย่างอัฟกานิสถานอาจใช้แค่ซอฟต์แวร์ ปรับเปลี่ยนการออกแบบและขึ้นรูปออกมา ไม่ต้องจ่ายแพงให้บริษัทการทหารเอกชน
นอกจากนี้ การพิมพ์ 3 มิติ เปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ ยกตัวอย่างคือการบั่นทอนมาตรการคว่ำบาตร
ซิงเกอร์ กล่าวว่า สหรัฐแซงชั่นตั้งแต่เครื่องบินรบจนถึงอะไหล่ชิ้นส่วนเครื่องบิน และอุปกรณ์เครื่องมือในอุตสาหกรรมน้ำมัน การพิมพ์แบบสามมติ อาจทำให้การแซงชั่นที่เป็นส่วนสำคัญในนโยบายต่างประเทศของอภิมหาอำนาจมาหลายยุคหลายสมัย เป็นเรื่องไร้ความหมาย
แต่แนวโน้มที่น่ากลัวที่จะมาควบคู่กันก็คือ การลดอุปสรรคการผลิตอาวุธ
เชาคอฟสกี กล่าวว่า ลองคิดดูว่าหากมีนักผลิตระเบิด ออกแบบใหม่ให้ระเบิดดูเหมือนเป็นข้าวของใช้ประจำวัน หรือพวกลงมือคนเดียว หรือที่เรียกกันว่า โลน วูล์ฟ พิมพ์ปืนพลาสติกที่ใช้ผ่านด่านรักษาความปลอดภัยทำเนียบขาวได้ จะเป็นอย่างไร
แต่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อาจเทียบไม่ได้กับการที่การพิมพ์สามมิติ จะกระตุ้นการปฏิวัติเศรษฐกิจทั้งโลก เมื่อทำให้ใครๆ ก็ตามสามารถที่จะพิมพ์หรือขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เองได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศที่เคยพึ่งโรงงานใช้แรงงานราคาถูก ในการผลิตเสื้อผ้า และของเล่นอย่างจีน อาจตกที่นั่งลำบาก
อันที่จริง เครื่องพิมพ์ 3 มิติถูกประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 แล้ว นานกว่าที่ส่วนใหญ่เข้าใจ แต่เพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากสิทธิบัตรเทคโนโลยีดั้งเดิมทยอยหมดอายุ เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันเพื่อปรับปรุงคุณภาพและราคาลดลง
สิทธิบัตรแรกที่หมดอายุลงในปี 2552 เป็นเทคโนโลยีการสร้างชิ้นงานพลาสติกแบบเทอร์โมพลาสติก (เอฟดีเอ็ม)
แต่สิทธิบัตรสำคัญที่หมดอายุเมื่อครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับการใช้เลเซอร์ขึ้นรูปวัตถุจากผงโลหะ (เอสแอลเอส) อย่างอะลูมิเนียม ทองแดงและเหล็ก เพื่อสร้างงานได้หลากหลาย และต่อไป อาจไม่จำเป็นต้องเป็นโลหะแข็งเท่านั้น วิศวกรสามารถสร้างสรรค์รูปทรงใหม่ๆ ที่ซับซ้อนที่ใช้วัสดุน้อยลงโดยไม่ทำให้ความแข็งแรงลดลง
เชาคอฟสกี กล่าวว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ทำให้เราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ที่ไม่เคยคิดว่าเป็นไปได้ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ
ผลพัวพันจากเทคโนโลยีนี้กว้างไกลจนยากจะจินตนาการ
"นี่จะเป็นจุดเริ่มในระยะเวลาอีกยาวนานมากของการเขย่าวงการวิศวกรรมอุตสาหกรรมแบบพลิกโฉมเช่นนี้ เราไม่เพียงแต่กำลังปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่เรากำลังเขียนกฎใหม่ขึ้นมาด้วย" สตีเฟนจากบีเออีกล่าวทิ้งท้าย
- See more at: http://www.komchadluek.net/detail/20150106/198947.html#sthash.zafHiwQb.dpuf