เทคโนโลยีแห่งอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งได้รับการผลักดัน โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเงื่อนไขการสนับสนุนจูงใจให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เกิดการลงทุนในประเทศไทย จะเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2560 นี้
ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2559 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการสั่งการให้กลับไปทบทวนสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามแผนของบีโอไอ ขั้นตอนต่างๆ ด้านนโยบายจะเสร็จสิ้นพร้อมการประกาศภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลจากหลายฝ่ายถึงความพร้อมในด้านต่างๆ สำหรับการผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดได้สำเร็จในประเทศไทย และการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นแบบไม่มีใครต้องเจ็บตัว
วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐนักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องปรับปรุงก่อนการก้าวสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าควรเริ่มต้นจากการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยานยนต์ให้สอดคล้องกับการปล่อยมลภาวะ ซึ่งแม้จะมีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีไปแล้วแต่ยังไม่สะท้อนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เสนอให้รัฐควรกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ยุคใหม่ อาทิ การยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนแบตเตอรี่และมอเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ยุคใหม่ทุกประเภท การยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับส่วนประกอบรถยนต์ไฮบริดที่ผลิตในประเทศไทย ระหว่างปี 2554-2556 ช่วยให้ราคารถไฮบริดลดลง และตลาดไฮบริดขยายตัวเร็วขึ้นรวมถึงการกำหนดราคาขายยานยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะสมและการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้เหมาะสม
ธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมยานยนต์ไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบทั้งด้านผลกระทบและความเหมาะสมของตลาด ควรจะกำหนดทิศทางความชัดเจนของนโยบายและเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมของภาคเอกชน รวมถึงควรเตรียมความพร้อมด้านอื่นควบคู่กัน อาทิ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ
เพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนจะต้องมีปริมาณความต้องการมากพอให้คุ้มค่าการลงทุน โดยรถยนต์ไฟฟ้ามีความแตกต่างจากการทำตลาดรถยนต์ทั่วไปที่มีความต้องการสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งมองว่าจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และปัญหาสำคัญคือ การสร้างตลาดและความต้องการรวมถึงการรับรู้ ซึ่งยังไม่มีใครการันตีได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร
ในปี 2560 นี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาดก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบัน การที่รัฐบาลเรียกหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปรับฟังความคิดเห็น เชื่อว่าน่าจะมีทางออกที่ดี สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันและยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต