บริษัท สื่อสากล จำกัด ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 33 จัดสัมมนาวิชาการ หัวข้อ "ประเทศไทยพร้อมก้าวสู่ ยุคยานยนต์ไฟฟ้าแล้วหรือยัง?" โดยมีวิทยากรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วานนี้ (8 ธ.ค.)
ณัฐพล รังสิตพล ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 12 ของโลก แต่กลับเป็นประเทศที่ไม่มีสินค้ารถยนต์เป็นของตนเอง ดังนั้นจึงต้องสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อความยั่งยืนทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จทั้งการสร้างรถปิกอัพ และอีโค คาร์ ในระดับโลกมาแล้ว
ขณะที่รถพลังงานไฟฟ้า หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) เป็นกระแส ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เห็นได้จาก ผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นรถทั่วไป หรือแม้แต่ ซูเปอร์คาร์ อย่างเฟอร์รารี ซึ่งไทยก็จะต้องเดินไปในเส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องการที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรม บีอีวี เช่นกัน โดยทั้งหน่วยงาน รัฐและนายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ชัดเจน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการ "ส่งสัญญาณ" ให้โลกรับรู้ว่าไทยมีแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไทยจะต้องรีบดำเนินการ เนื่องจากเชื่อว่าแหล่งผลิตในประเทศ อื่นๆ ต้องการที่จะมีฐานการผลิตบีอีวี เช่นกัน
"ไทยเป็นประเทศที่ 4 ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่มีสินค้าของตัวเอง จึงต้องพยายามดึงบีอีวีเข้ามาให้ได้ เพราะถ้าเข้ามาแล้วก็คงไม่ไปไหน แต่กลับกัน ถ้าหากผู้ผลิตรถยนต์เข้าไปประเทศที่ 1,2 หรือ 3 แล้ว ก็ยากที่จะเข้ามาประเทศที่ 4"
ทั้งนี้ การจะผลักดันให้บีอีวีเกิดขึ้น และได้รับความสนใจจากนักลงทุน จะต้อง กำหนดกรอบการส่งเสริมที่ชัดเจนและ "ดึงดูดเพียงพอ" ซึ่งเห็นว่าการใช้เงื่อนไขด้าน"ภาษี"อย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ควรหามาตรการส่งเสริมด้านสังคมอื่นๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษด้านต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับรถอื่นๆ เช่น รถปิกอัพ
"หลายคนอาจมองว่าปิกอัพสำเร็จได้เพราะภาษี แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ วันนี้ถ้าตัดเรื่องภาษีออกไป ปิกอัพก็ยังอยู่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้อยู่ไม่ได้คือ สิทธิพิเศษในการใช้งาน เช่น ใช้งานได้เหมือนรถเก๋ง ผู้โดยสารนั่งกระบะหลังได้ นั่งในแค็บได้ ซึ่งในหลายประเทศทำไม่ได้"
การเสริมรถบีอีวี ควรมี 3 กลุ่มหลัก คือ 1.รถเดิมที่พัฒนาขึ้นเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 2.รถพลังงานไฟฟ้า รุ่นใหม่ๆ โดยดึงนักลงทุน เข้ามาผลิตในประเทศ และ 3.รถบัสโดยสาร รถใช้งานเฉพาะ เช่น รถท่องเที่ยว รถสามล้อ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นการให้โอกาสกับกลุ่มธุรกิจของไทยที่สามารถพัฒนาได้
ทั้งนี้ในส่วนที่ 2 หรือการลงทุนผลิตรถบีอีวี จะต้องดึงกลุ่ม ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) มาร่วมด้วย เพราะรถทั้ง 2 กลุ่มใช้ชิ้นส่วนสำคัญพื้นฐานร่วมกัน เช่น แบตเตอรี มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยทำให้การเติบโตเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ พีเอชอีวี จะต้องได้สิทธิประโยชน์ที่น้อยกว่า บีอีวี
ธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมยานยนต์ไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุม OICA GENERAL ASSEMBLY ล่าสุดที่ มอสโคว์ รัสเซีย พบว่า ผู้บริหารค่ายรถหลายค่ายเห็นตรงกันว่า แม้ บีอีวี จะเป็นกระแสใหม่ของโลก แต่ไม่ได้หมายความว่ารถประเภทนี้จะเหมาะสมกับทุกประเทศ ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมในด้านต่างๆ ของประเทศนั้นๆ ที่สำคัญการจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จะต้องมีมาตรการส่งเสริมที่เข้มข้นอย่างมาก
"อย่างสหรัฐก็ส่งเสริม บีอีวี แต่ว่าตอนนี้ เขาก็ผลักดัน เอทานอล อย่างเข้มข้นมากขึ้น มีเป้าหมายจะเพิ่มการใช้จาก อี 10 (น้ำมันเบนซินผสมเอทานอล 10%) เป็นอี30 ในอนาคต ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเขาก็ยังเห็นความสำคัญกับเชื้อเพลิงเดิม"
นอกจากนี้ค่ายรถต่างๆ มองว่า การพัฒนา อุตสาหกรรม ไม่จำเป็นจะต้องมุ่งไปที่เรื่อง ของพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรทำ เช่น ระบบความปลอดภัย หรือว่าสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้การที่รัฐจะส่งเสริม บีอีวี ควรจะต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้รอบด้าน ถึงความเหมาะสมของตลาด รวมถึงผลกระทบ ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมในปัจจุบันที่มีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ เห็นได้จากปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้ากลุ่มยานยนต์ มูลค่ากว่า 8.63 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรัฐจะส่งเสริมแนวทางใด จะต้องกำหนดให้ชัดเจนเพื่อให้เอกชนรู้ว่าจะไปในทิศทางไหน จะได้เตรียมความพร้อมได้ถูกทาง นอกจากนี้ควรจะเตรียมความพร้อมในส่วนอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์ ที่ควรจะเร่งจัดตั้งให้เร็วที่สุด