สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เตรียมจับเมือบีโอไอ แก้เงื่อนไขขอรับส่งเสริมการลงทุนให้กับเอสเอ็มอีใหม่ หลัง"ประยุทธ์"เป็นห่วงเข้ามาขอรับสิทธิประโยชน์น้อย หวังเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางหนึ่ง คาดเสนอบอร์ดบีโอไออนุมัติได้หลังกลางปีนี้ พร้อมเดินสายโรด์โชว์ทุกจังหวัดให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูล
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 9 พันรายทั่วประเทศ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าในการประชุมคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนหรือบอร์ดบีโอไอ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมา ได้มีดำริกับทางที่ประชุมถึงให้ภาครัฐพยายามผลักดันส่งเสริมการลงทุนให้มากขึ้นจากที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ให้เข้ามาขอรับการส่งเสริมให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอีมีอยู่เป็นจำนวนกว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ แต่มาขอรับการส่งเสริมในสัดส่วนที่น้อยมาก ถึงแม้ที่ผ่านมาทางบีโอไอจะพยายามออกมาตรการหรือผ่อนปรนเงื่อนไขบางประกาศไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่จูงใจให้เอสเอ็มอีเข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุน
ทั้งนี้ ทางสมาคมจึงได้หยิบยกมาหารือ เพื่อที่จะหาทางออกในเรื่องดังกล่าว โดยจะร่วมกับทางบีโอไอ ไปพิจารณาดูว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการขอรับส่งเสริมการลงทุน มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่พอจะสามารถผ่อนปรน หรือแก้ไขปรับลดลงมาได้ อันจะเป็นการจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการลงทุนมากยิ่งขึ้น
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายนนี้ ทางสมาคมจะเริ่มหารือกับทางบีโอไอ หลังจากที่ได้ข้อมูลในระดับหนึ่งที่รับฟังมาจากเอสเอ็มอีแล้ว ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 3 เดือน เพื่อให้มาตรการหรือเงื่อนไขการขอรับส่งเสริมการลงทุนใหม่ออกมา และหลังจากนั้น จะนำเสนอบอร์ดบีโอให้ความเห็นชอบในมาตรการดังกล่าว
"วันนี้หลายฝ่ายจะมองการส่งเสริมการลงทุน จะเน้นไปที่รายใหญ่เป็นสำคัญ แต่รายเล็กให้ความสนใจน้อย จึงทำให้มาตรการส่งเสริมที่มีอยู่ไม่จูงใจพอ หรือมีเงื่อนไขจำนวนมากที่เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น จึงต้องมาจัดแคมเปญที่จะส่งเสริมเอสเอ็มอีกันใหม่ ให้เข้าถึงการลงทุนให้ได้"
นางเพ็ญทิพย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อบอร์ดบีโอไออนุมัติแล้ว ทางสมาคมจะจัดให้มีการโรดโชว์ลงพื้นที่ทุกจังหวัด เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้เอสเอ็มอีมีความเข้าใจ พร้อมกับให้คำปรึกษาด้านการเงิน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้เอสเอ็มอีเป็นตัวขับเคลื่อนอีกทางหนึ่ง เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยช่วงเวลานี้เตรียมตัว และทำให้เอสเอ็มอีเกิดความเชื่อมั่นที่จะกลับมาลงทุนในยามที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกันเป็นเตรียมความพร้อมที่จะรองอรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2559 ด้วย
นอกจากนี้ เมื่อมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ของเอสเอ็มอีออกมาหรือแก้อุปสรรคแล้ว แต่ยังไม่มีการเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงของเอสเอ็มอีที่ไม่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนเกิดเพราะอะไร เพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขในทีละจุดต่อไป