ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาบางประเภทกลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง แม้จะมองไม่เห็นสีสันเหมือนกับสายตาของคนปกติก็ตาม แต่อย่างน้อยทำให้ผู้พิการเหล่านี้ ได้มองเห็นโลกได้อีกครั้ง
สิ่งประดิษฐ์อันนี้ มีชื่อเรียกว่าระบบดวงตาประดิษฐ์ "อาร์กัสทู" ซึ่งประกอบด้วยแว่นตาที่เลนส์ถูกเปลี่ยนให้เป็นกล้องสำหรับรับภาพจากภายนอกแทนดวงตา แว่นตาดังกล่าวนี้ ติดตั้งไมโครชิปขนาดจิ๋วเพื่อทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลของภาพที่เห็นให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งผ่านระบบไร้สายไปยังอุปกรณ์ที่ผ่าตัดฝังอยู่ในเรตินา หรือเยื่อชั้นในของลูกตาที่เชื่อมต่ออยู่กับประสาทเพื่อการมองเห็นของคนเรา แม้จะประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถอ่านหนังสือเล่มโตได้อีกครั้ง สามารถเคลื่อนที่ไปมาในบ้านที่ไม่คุ้นเคยได้ และเห็นภาพของบุคคลอันเป็นที่รักได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีก็ตาม แต่ภาพที่เห็นผ่านระบบอาร์กัสทู ยังเป็นขาวดำและมีความละเอียดไม่มากนักที้งนี้ยังมีผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกัน เรียกว่า "อัลฟา ไอเอ็มเอส" เลือกใช้วิธีการผ่าตัดฝังเซ็นเซอร์เข้าไว้ในตัวผู้พิการทางสายตาแทนที่การสวมแว่นตา เพื่อทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพที่รับได้ไปยังเรตินาได้โดยตรง ทำให้ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่ามาก
ทั้ง "อาร์กัสทู" และ "อัลฟา ไอเอ็มเอส" ถือเป็นพัฒนาการรุ่นแรก ๆ ของ "ดวงตาประดิษฐ์" นักวิจัยทางด้านระบบตาเทียมของมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า ดวงตาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถทำหน้าที่แทนตาธรรมชาติได้สมบูรณ์แบบ น่าจะมาใช้งานได้สมบูรณ์ภายในปี 2020 นี้