นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หลังราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกันยายน 2557 จนกระทั่งลดลงเหลือ 43.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในวันที่ 15 มกราคม 2558 โดยสาเหตุหลักเกิดจากภาวะปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมาจากกลุ่มโอเปกมากเกินความต้องการ (Oversupply) และยังคงกำลังการผลิตเดิม ซึ่งมีปริมาณการผลิต 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 35% ของการผลิตทั้งโลก เพื่อกดดันราคาให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปนั้น ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหากพิจารณาราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยอยู่ที่ระดับราคา 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และในครึ่งปีหลังของปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นมาแต่ยังคงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยอยู่ที่ระดับราคา 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลกระทบในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2558 อยู่ในระดับกลาง คือ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรม (Real GDP) มีค่าเพิ่มขึ้น 0.41% จากกรณีฐาน ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น 0.10 %และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 0.15% โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตปรับลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ประกอบกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น 0.20% นอกจากนั้นการนำเข้าสินค้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลในทางบวกจากการที่ราคาน้ำมันลดลง และส่งผลต่อไปยังราคาวัตถุดิบในหลายๆ ประเภทลดลงตามไปด้วยนั้น ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน และเคมีภัณฑ์อื่นๆ 2.อุตสาหกรรมพลาสติก 3.อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และ 4.อุตสาหกรรมอาหาร