เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

ผลประชุมกมธ.ยกร่างรธน.นายกฯมาจากสภา

  • STEEP Category :
    Politic
  • Event Date :
    14 ธันวาคม 2557
  • Created :
    07 มกราคม 2558
  • Status :
    Current
  • Submitted by :
    Puwanai Thammasathit
Description :

นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญคนที่สาม ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 ว่าด้วยระบบผู้แทนที่ดี ผู้นำการเมืองที่ดี แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณารายละเอียดของกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา

นายสุจิต กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการตามที่อนุ กมธ.เสนอ กล่าวคือ ใช้ระบบ 2 สภา มีสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ โดยใช้เกณฑ์ประชาชน 2 แสนคนต่อส.ส. 1 คน
ส่วนการนับคะแนนผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ให้ยึดคะแนนนิยมของประชาชน โดยทุกคะแนนเสียงของประชาชนจะได้รับการพิจารณา เหมือนการนับคะแนนของประเทศเยอรมนี และมีวุฒิสภา

สำหรับที่มาของนายกฯให้มาจากการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร โดยคุณสมบัติของนายกฯต้องยึดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 (4) ที่ระบุว่า "มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด"

อย่างไรก็ตามการเห็นชอบดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อสรุปใดๆ เพราะต้องรอฟังข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อน

สำหรับรายละเอียดที่อนุ กมธ.คณะที่ 3 ได้ศึกษา เน้นโจทย์ใหญ่คือการสร้างระบบถ่วงดุลของฝ่ายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ เพราะในบทเรียนช่วงที่ผ่านมาพบแล้วว่า หากมีพรรคการเมืองหรือมีผู้นำที่เข้มแข็งทางการเมือง จะใช้อำนาจนั้นสร้างระบบอุปถัมภ์ ใช้นโยบายประชานิยมที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน ดังนั้นทางคณะอนุ กมธ.ต้องมุ่งเน้นการป้องกันปัญหาดังกล่าว

นายสุจิต ยังกล่าวถึงข้อเสนอของ นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ระบุไม่ให้เขียนนิรโทษกรรมให้กับผู้ล้มล้างการปกครองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังความเห็นดังกล่าว เช่นเดียวกับการรับฟังข้อเสนอของพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ แต่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปปฏิบัติหรือปรับใช้หรือไม่ ต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดยยึดประเด็นที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและส่วนรวมเป็นสำคัญ