ปรับวิธีคิด ออกจากวิถีแห่งการร้องขอ นวัตกรรมการทำ CSR เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ฉบับ โตโยต้าและเอสซีจี
โตโยต้า และเอสซีจี เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ดำเนินธุรกิจมาหลายทศวรรษ มีพอร์ทธุรกิจนับแสนล้านบาท ทว่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบระหว่างทางของการทำธุรกิจเพื่อการเติบโตและผลกำไร ก็คือ หากสังคมอ่อนแอจากเศรษฐกิจระดับชุมชนที่หมุนไม่คล่องตัว ไม่สามารถล้อไปกับธุรกิจใหญ่ได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และรายเล็ก ทวีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้กว้างขึ้น
ซึ่งความอ่อนแอของธุรกิจขนาดเล็กนั้น ย่อมส่งผลกระทบถึงธุรกิจขนาดใหญ่ตามไปด้วย เพราะต่างเป็นฟันเฟืองร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ทำงานไปพร้อมกัน หากฟันเฟืองตัวใดหยุดชะงัก หัวเฟืองทั้งระบบก็ย่อมหยุดทำงานตามไปด้วย
นั่นเองที่ทำให้สององค์กรขนาดใหญ่ คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจและแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) แนวใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงคืนกำไรให้สังคมประเภท "พี่ใหญ่ใจดี? ที่ทำให้ไป มอบให้ไปทุกๆ ปี เพราะเชื่อว่า ไม่ใช่ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" แต่พวกเขามีวิธีที่ดีกว่านั้น
"สุรศักดิ์ สุทองวัน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เล่าถึงวิธีคิด CSR แบบโตโยต้า ที่ปรับจากการช่วยเหลือสังคมผ่านการ "ให้" ทุกๆ ปี จนเกิดภาพที่ คนเคยได้รับ ก็จะรอคอยการช่วยเหลือไปทุกๆ ปี เช่นกัน
สะท้อนความจริงของแนวคิดที่ว่า 'ซื้อปลาให้กินมื้อเดียวหมด แต่ถ้าสอนวิธีจับปลา หากินได้ตลอดชีวิต'
การให้ที่ดีที่สุด ไม่ต้องไปทำเรื่องไกลตัว หรือใช้ทรัพยากรมหาศาล แต่สามารถเริ่มจาก ต้นทุนและประสบการณ์ที่พวกเขามี นั่นคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจในวิถีโตโยต้า ซึ่งตกผลึกจนเป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาธุรกิจและกระบวนการผลิต ฉบับ "ไคเซน? ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ด้วยแนวคิดปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นทุกวัน บนความเชื่อที่ว่า 'วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้'
ผู้บริหารโตโยต้า มอเตอร์ ฉายภาพประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาพบว่า ผลิตภัณพ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) มีมูลค่าถึง 11.9 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กประมาณ 25% หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของจีดีพี ทว่าสิ่งที่น่าเสียดาย คือ กิจการรายเล็กจำนวนมากที่ ไปไม่รอด! ต้องล้มหายตายจากไปทุกๆ ปี
นี่เองที่ทำให้ โตโยต้า อยากร่วมปลุกปั้นธุรกิจเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน ให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน หนึ่งฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการปฏิวัติการทำ CSR ด้วยนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) เพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการเติบโตที่สมดุลทั้งมิติ เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม
นั่นคือที่มาของ "โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์? ที่นำความรู้ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของโตโยต้าทั่วโลก ได้แก่ ?วิถีโตโยต้า? (Toyota Way) และ ?ระบบการผลิตแบบโตโยต้า? (Toyota Production System) มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจชุมชนของไทย โดยไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจหลักของโตโยต้าเท่านั้น บนพันธกิจมุ่งเน้นการหาแนวทางปรับปรุงแก้ปัญหาที่มักพบในธุรกิจชุมชน อาทิ ความสามารถในการผลิต การเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ การส่งมอบงาน ควบคุมคุณภาพ บริหารสินค้าคงคลังและบริหารต้นทุนในกระบวนการ
เพื่อมุ่งกระจายรายได้สู่ชุมชน ก่อเกิดการพึ่งพาตัวเองอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในบรรทัดสุดท้าย
วิถีแห่งโตโยต้า บนสูตรไคเซน 3 กลไกการทำงาน ประกอบด้วย 1.Muda (ลดการสูญเสีย) ของเสียลดเท่ากับกำไร โดยไม่ต้องเพิ่มยอดขาย 2.Mura ความสม่ำเสมอ มีมาตรฐาน ไม่มากหรือน้อยไปแต่ออกแรงต่อเนื่อง และ 3.Muri (ไม่ทำเกินกำลัง) เพราะหากเครื่องพังก็เท่ากับสูญเสีย
แนวคิดเหล่านี้ ถูกถ่ายทอดไปยังดีลเลอร์ของโตโยต้า อาทิ ดีลเลอร์ในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้แนวคิดไปปรับใช้ในการบริหารสต็อก ลดการสูญเสีย การบริการลูกค้าอย่างลื่นไหล และลดงานที่กองเป็นคอขวด เพื่อผลสุดท้ายตีมูลค่าความสูญเสียกลับมาเป็น "กำไร" ได้ง่ายๆ
เช่นเดียวกับ กลุ่มโอทอปธุรกิจชุมชนเสื้อโปโลฮาร์ท สปอร์ต แวร์ จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าของแบรนด์ ?ฮาร์ทโอทอป? โดยการนำของ "รสวรรณ จงไมตรีพร" มีสมาชิกกลุ่มที่คอยรับงานไปผลิตอยู่กว่า 100 ครอบครัว
พวกเขาได้นำกลวิธีที่เรียนรู้จากโตโยต้า ไปปรับใช้ในการทำงาน เริ่มตั้งแต่การอบรมพนักงาน เพื่อสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานเพื่อให้พนักงานรู้จักวิเคราะห์ปัญหา ตั้งแต่ การเก็บสต็อกที่มากเกินไป การทำให้งานกองกันเป็นคอขวด ไม่ลื่นไหล จนกระทั่งคิดวิธีแบบไคเซน ในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาจากภายในโดยพนักงานในแต่ละแผนก
ผลจากการถ่ายทอดเคล็ดวิชาตลอดกว่า 1 ปี พวกเขาประเมินผลสัมฤทธิ์ใน 5 ด้าน คือ 1.ความสามารถในการผลิต (Productivity) ที่สามารถเพิ่มรายได้จาก 49% เป็น 70% 2.การควบคุมคุณภาพ(Quality control) สามารถลดต้นทุนจาก 8.5 ล้านบาทต่อเดือน เหลือประมาณ 3 แสนบาท ต่อเดือน 3.การส่งมอบตรงเวลา(Delivery) พัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพ จากที่ส่งมอบล่าช้าถึง 25% ลดเหลือเพียง 3.8% 4.การบริหารสินค้าคงคลัง(Inventory Management) จากที่สั่งผ้ามาเก็บสะต๊อกไว้ประมาณ 1.2 เดือน หลังทำไคเซนลดลงเหลือเพียง 3 สัปดาห์เศษๆ รวมถึงบริหารต้นทุนในกระบวนการ (Work in process cost) เพิ่มกำไรได้จากการลดต้นทุนสต็อก 2.5 ล้านบาทต่อเดือน เหลือเพียง 1.4 ล้านบาทต่อเดือน
หลังจากมาเป็นพี่เลี้ยงติวเข้มวางระบบการผลิตในกาญจบุรี จนเป็นหนึ่งใน 3 วิสาหกิจนำร่อง ตั้งแต่ปี 2556 ร่วมกับ หัตถกรรมพื้นบ้านเตยปาหนัน บ้านวังหิน จังหวัดกระบี่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าข้ามสัมพันธ์ จังหวัดตรัง พวกเขาบอกว่า แผนในปี 2557 คือการขยายให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ทั้ง ภาคกลางตอนล่าง ภาคเหนือ และภาคอีสาน
ขณะที่เป้าหมายสูงสุดในปี 2563 คือการส่งต่อคัมภีร์ธุรกิจฉบับไคเซนสู่ชุมชนนำร่องครบ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ
ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย คือ กลุ่มธุรกิจชุมชนอยู่รอดได้สูงขึ้นจากที่เคยล้มหายไปถึง 95% กลับต่อชีวิตให้อยู่รอดเพิ่มเป็น 25-30% ซึ่งแค่เพียงทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก มีชีวิตรอดได้ ก็เท่ากับเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมได้ถึง 6 เท่า!
ขณะที่ฟากของ "เอสซีจี" ธุรกิจที่มุ่งสานต่อความเป็นผู้นำธุรกิจยั่งยืนแห่งอาเซียน พวกเขาตีโจทย์ "กับดักความจน" ที่ไม่ได้เกิดจากการขาดโอกาส หรือความขี้เกียจ เนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากที่เอาการเอางาน ทำงานหนักแต่รายได้ก็ยังไม่พอใช้
พวกเขาเชื่อว่า ปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ "วิธีคิด? หรือ มายด์เซ็ทของคน ที่เลือกปฏิบัติในกรอบเดิมๆ ขาดการพัฒนาชุดความคิดนอกกรอบ พัฒนามูลค่าและคุณค่าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้ค้นพบโอกาสในการสร้างรายได้อีกมาก
การทำงานเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยว พวกเขาดึงความร่วมมือ 5 พาคี ทั้ง เอสซีจี มูลนิธิมั่นพัฒนา กองทัพบก สวทช. และหอการค้าไทย ร่วมพัฒนา "โครงการพลังปัญญา? เพื่อเปลี่ยนกรอบวิธีคิดของชุมชน ให้หันมาคิดเชิง "นวัตกรรม"
รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและชีวเคมีด้านพืช หน่วยงานวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช. )นักวิทยาศาสตร์ที่ลงมาสอนกระบวนการคิด "เป็นเหตุเป็นผล" ตามกรอบวิทยาศาสตร์ควบคู่กับ "คุณธรรม" แบ่งปันความรู้สู่ชุมชน
?หากชาวบ้านรู้จักปรับกระบวนความคิด คิดนอกกรอบ อย่างมีเหตุและผล ปรับเปลี่ยนและพัฒนาการประกอบอาชีพ ยกระดับสู่เกษตรกรนักธุรกิจ จัดวางสมดุลชีวิต และนำพลังปัญญาแบ่งปันสู่สังคม นี่จะเป็นการช่วยให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นกับดักความจน สามารถเพิ่มรายได้ ลดหนี้สินและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนได้?
โครงการเพื่อชุมชน นำร่องโดยเครือข่ายเกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการพัฒนาดินเค็มจากเอสซีจี และเกษตรกรในการสนับสนุนของหอการค้าไทย และเครือข่ายทหารจากกองทัพบก นำร่องประชาชนเป้าหมาย 600 ราย เข้าสู่การอบรม ก่อนขยายไปสู่ 2,400 รายในอนาคต
จากจุดเริ่มต้นของไอเดียเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ที่ส่งต่อจากองค์กรขนาดใหญ่ไปสู่ผู้ประกอบการพันธุ์เล็ก สามารถแผ่ขยายให้เติบใหญ่ขึ้น เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่พวกเขาสร้างไว้ ได้ไปถ่ายทอดสู่สังคมในวงกว้างต่อไป
และการให้ที่ไม่สิ้นสุดนี้เองที่จะสร้าง สังคมมั่งคั่งอย่างยั่งยืน ได้โดยแท้จริง