เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

ASEAN Action 2020 แผนปฏิบัติ SCG สู่ความยั่งยืน

  • STEEP Category :
    Social
  • Event Date :
    10 ธันวาคม 2557
  • Created :
    06 มกราคม 2558
  • Status :
    Current
  • Submitted by :
    Nuntaporn Banchong-Aksorn
Description :

เวที ASEAN Sustainable Development Symposium เป็นสัมมนาวิชาการว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับอาเซียนที่ "เอสซีจี" จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความเร่งด่วนของการร่วมรับมือกับความท้าทายในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นก้าวย่างสำคัญอีกประการของ"เอสซีจี" ในปีนี้ ด้วยการระดมความคิดสำหรับประเด็นที่จะพัฒนาไปสู่แผนปฏิบัติการอาเซียนปี 2563 (ASEAN Action 2020) บนเวที ASEAN Sustainable Development Symposium 2014 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจากหน่วยงานนานาประเทศ มาแบ่งปันวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และประสบการณ์

โดยช่วงแรกมี "กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ฉายภาพถึงประเด็นความร่วมมือ เพื่อให้เกิดพลังพัฒนา จากนั้น "เล เลือง มินท์" เลขาธิการอาเซียน มาปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับความยั่งยืนในมิติอาเซียน ตามมาด้วย "อิโวเดอ โบเออร์" ผู้อำนวยการทั่วไป สถาบันโกลบอล กรีน โกรวท์ ที่มานำเสนอเรื่อง Green Growth-Key for ASEAN Challenge

เบื้องต้น "กานต์" จุดประเด็นว่า ในอดีตการพัฒนาอย่างยั่งยืนอาจเป็นเพียงตัวเลือกที่องค์กรธุรกิจจะปฏิบัติ หรือไม่ทำก็ได้ แต่ปัจจุบันเรื่องของความยั่งยืนไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป แต่หมายถึงสิ่งที่ต้องผสานเข้ากับแนวทางการดำเนินธุรกิจ และความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดพลังพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ จาก Good to Great

"ดังนั้น ภาคธุรกิจถือเป็นความหวังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีแรงขับเคลื่อนได้ดี และสามารถขยายผลได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน แต่ถึงแม้ว่าแต่ละธุรกิจจะพยายามมุ่งทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วก็ตาม แต่อาจไม่เพียงพอ เพราะสังคมเกิดการเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ฉะนั้น ความร่วมมือกันจึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดพลังพัฒนาให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม"

"จากการที่เอสซีจีเข้าไปเป็นสมาชิกสภานักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (World Business Council for SustainableDevelop - Cement Sustainability Initiative : WBCSD-CSI) เราจึงเห็นผลสำเร็จของการร่วมมือกันเช่น ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือนำคอนกรีตกลับมาใช้ใหม่ โดยการศึกษาวิจัยและพัฒนาร่วมกันของกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์"

ขณะที่ "เล เลือง มินท์" แสดงทัศนะว่า เมื่อประชาคมอาเซียนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2015 ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถึงการทำงานด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง ชาติอาเซียนต้องแน่ใจว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า ทรัพยากรธรรมชาติจะต้องคงอยู่ และอยู่อย่างยั่งยืน

"แนวทาง Green ASEAN จะเป็นเป้าหมายในการเดินไปข้างหน้าของภูมิภาคอาเซียน เพราะการที่วันนี้อาเซียนมีประชากรมากขึ้นทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ดังนั้น โจทย์ของเราคือจะดูแลรักษา และเพิ่มเติมทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร รวมไปถึงต้องมองหากลไกลการทำงานในอาเซียน"

"กลไกลการทำงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาเซียน ต้องร่วมมือกันทำจากทุกฝ่าย ด้วยการสร้างเครือข่ายระหว่างกันทั้งของภาครัฐและเอกชน จึงจะช่วยให้การทำงานทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติเป็นไปอย่างรวดเร็ว และราบรื่น นอกจากนี้ ภาคการศึกษา และสถาบันต่าง ๆ จะต้องเป็นกลไกเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย"

สำหรับ "อิโว เดอ โบเออร์" นำเสนอถึงความท้าทายในอาเซียนว่า อาเซียนเป็นพื้นที่ที่รวมการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรม เป็นดินแดนแห่งการผลิต เป็นตลาด และยังเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับปัญหาราคาของปัจจัย 4 ที่ต้องซื้อหามาด้วยเงินที่มากขึ้น และความเสียหายด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ

"เพราะการโฟกัสเศรษฐกิจให้เติบโต มุ่งเน้นการขยายตัวของอุตสาหกรรม และสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างขาดการวางแผนอย่างรัดกุม ได้สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ จนก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมา อย่างเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยและฟิลิปปินส์เมื่อไม่กี่ปีผ่านมา"

"ดังนั้น วันนี้ความท้าทายในการเดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงคือ ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันมองหาเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน และเปลี่ยนกรอบความคิดที่ว่าการใช้เงินในกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นความเสี่ยงขององค์กร แต่ต้องมองว่าเป็นการลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า และเพื่อโลกของเรา รวมไปถึงปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม"

สำหรับงานสัมมนาภาคต่อไป เป็นการสัมมนาในหัวข้อ "The Success of Businesswith its Sustainability Agenda" โดยชี้ให้เห็นถึงหนทางสู่ความสำเร็จขององค์กรธุรกิจที่เกี่ยวกับวาระแห่งความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร 3 ท่าน คือ "เดวิด เพียร์สัน" ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดีลอยท์ โกลบอล, แคลินน์ เจมส์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอาร์เอ็ม ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และ "ฟิลลิป ฟอนด้า" ผู้อำนวยการสภานักธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

"เดวิด เพียร์สัน" นำเสนอว่า การสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรเป็นกลไกสำคัญในการทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

"นอกจากนี้ผู้บริหารถือเป็นบุคลากรหลักที่จะทำให้กระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืนกลายเป็นวิถีขององค์กร นโยบายต้องถูกขับเคลื่อนมาจากฝ่ายบริหาร รวมถึงเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมี 2 คำนี้คือนวัตกรรม และลงมือทำ"

"ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจไม่ควรประมาทว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องที่เลือกว่าจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ต้องทำให้เป็นหนึ่งวาระของการทำงานทีคู่ขนานกันไปกับการสร้างผลประกอบการที่ดี"

ถึงตรงนี้ "แคลินน์ เจมส์" จึงกล่าวว่า เอเชียมีข้อได้เปรียบกว่าภูมิภาคอื่นมากมาย แต่มีประเด็นที่วันนี้องค์กรในเอเชียจำเป็นต้องหันกลับมาขบคิด คือกระบวนการพัฒนายั่งยืนยังเดินไปได้เชื่องช้า หลายประเทศยังคงไม่ตระหนัก เนื่องจากสภาพสังคมไม่เอื้ออำนวย เพราะคนยังประสบปัญหาความยากจน และหลายคนยังมองว่าการเติบโตทางมิติด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด

"การจะสร้างกระบวนการทำงานเพื่อความอย่างยั่งยืนให้มองที่ห่วงโซ่อุปทานของตัวเองก่อนอาจเริ่มต้นจากการให้เงินบริจาค เพื่อสร้างการรับรู้ แล้วจึงพัฒนาต่อไปเป็น Corporate Social Responsibility (CSR) เพื่อสร้างชื่อเสียงระดับองค์กร จากนั้นค่อยขยายสู่การสร้างคุณค่าร่วมในสังคม (Creating Share Value - CSV) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วน"

ขณะที่ "ฟิลลิป ฟอนด้า" บอกว่า ทุกคนต้องเข้าใจเรื่องการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ให้มากขึ้น ซึ่งในกลุ่มซีเมนต์ทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งวาระท้าทายที่ต้องใส่ใจต่อไป

"ทั้งนี้ การสร้างและการทำงานเพื่อให้เดินหน้าไปสู่ปี 2020 เมื่อมีประชากร 9 พันล้านคนนั้น พวกเราในฐานะภาคธุรกิจต้องขบคิดถึงวิธีที่จะทำให้โลกเรายังอยู่ได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงต้องหันกลับมาดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลประชาคมโลก ที่สำคัญ กระบวนการทำงานต้องโปร่งใสด้วย"

ที่ไม่เพียงจะเป็นการทิ้งท้ายให้ผู้ฟังฉุกคิดในแต่ละประโยค แต่ละคำพูดนั้นน่าสนใจทั้งสิ้นเพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกใบนี้ไม่ใช่ของใครแต่เพียงผู้เดียว หากแต่เป็นของทุกคนบนโลกใบนี้ด้วย เพราะฉะนั้นทุกคนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยโลกใบนี้ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง