ปัจจุบันเรื่องการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) ได้ถูกตีความ และนำไปใช้ในหลายแง่มุม องค์กรธุรกิจหลายแห่งมีการพัฒนาต่อเติมจากแนวคิด CSV ดั้งเดิม รวมทั้งมีการนำ CSV ไปดัดแปลงใช้ในบริบทเฉพาะตน เรียกว่า Corporate Shared Value บ้าง หรือ Customer Shared Value บ้าง
ซึ่งมีความแตกต่างจากการสร้างคุณค่าร่วม ตามแนวทางของ "ไมเคิล อี พอร์เตอร์" และ "มาร์ค เครเมอร์" ผู้ที่เป็นเจ้าของแนวคิดฉบับต้นตำรับ
CSV เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ให้กับกิจการและสังคมไปพร้อมกัน แนวคิดดั้งเดิมของการสร้างคุณค่าร่วม ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต้องการแก้โจทย์ความไม่เชื่อมโยงกันระหว่างความต้องการของ สังคม และของธุรกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ธุรกิจที่ต้องการดำเนินอยู่บนวิถีของ CSV จำเป็นต้องสร้างคุณค่าให้แก่สังคม ควบคู่กับการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการ เพื่อให้เกิดเป็นผลสำเร็จในระยะยาว
หากพิจารณาในแง่มุมของการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ธุรกิจส่วนใหญ่มองประเด็นทางสังคม (Social Issues) ที่องค์กรต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่ของความเสี่ยงทางธุรกิจ CSR จึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันหรือจัดการความเสี่ยงธุรกิจ อีกส่วนหนึ่ง เริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อประเด็นทางสังคมเหล่านั้นว่าเป็นโอกาสทาง ธุรกิจ CSV จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นในการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาสังคม และในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปพร้อมกัน
ในกรณีที่ธุรกิจมิได้ตระหนักว่า ผลกระทบต่อสังคมที่เกิดจากการประกอบการเป็นปัญหาแก่องค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคมจะอยู่ในระดับต่ำ กิจการอาจแสดงออกด้วยการเพิกเฉย หรือรับผิดชอบให้น้อยที่สุด และหากเลี่ยงไม่ได้จะใช้วิธีการบริจาคเป็นทางออก
แต่หากกิจการเริ่ม ตระหนักว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาแก่องค์กร ระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจะเพิ่มขึ้น กิจการจะใช้การสร้างสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ใช้การประชาสัมพันธ์ เป็นเครื่องมือดำเนินการ และเพิ่มกิจกรรมการบริจาคมากขึ้น
จนกระทั่ง กิจการเกิดสำนึกที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการแก้ไขปัญหา จัดการ ติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลการดำเนินการกับปัญหาจนลุล่วง
สำหรับกิจการที่เพิ่มระดับ ความรับผิดชอบต่อสังคม จนสามารถดูแลและจัดการกับผลกระทบทางลบได้ดีแล้ว จะเริ่มเข้าสู่การค้นหาแนวทางการส่งมอบผลกระทบในทางบวก ด้วยการพิจารณาเป็นโอกาสของธุรกิจในการร่วมพัฒนาสังคม เสริมสร้างปัจจัยทางเศรษฐกิจ และสภาพความเป็นอยู่ของสังคม รวมทั้งการใช้สินทรัพย์ และความเชี่ยวชาญหลักของกิจการในการดำเนินการ
CSV จึงเป็นภาคต่อขยายของ CSR และอยู่ในบริบทของ CSR-in-process ที่องค์กรสามารถใช้ยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคมจากการดูแลผลกระทบในเชิงลบ มาสู่การส่งมอบคุณค่าในเชิงบวก ซึ่งในอดีตเราเรียก CSR ในลักษณะนี้ว่า Strategic CSR แต่ปัจจุบันนิยมใช้คำว่า CSV แทน
สำหรับความเคลื่อน ไหวล่าสุดในเรื่อง CSV สามารถติดตามได้จาก Shared Value Initiative (www.sharedvalue.org) ความริเริ่มที่ "ไมเคิล อี พอร์เตอร์" และ "มาร์ค เครเมอร์" ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีความเข้าใจเรื่อง CSV ที่ถูกต้อง และการสนับสนุนเครื่องมือที่นำไปใช้ในภาคปฏิบัติ
สำหรับในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ได้ก่อตั้ง CSV Forum (www.csvforum.com) ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวมทรัพยากรในรูปขององค์ความรู้ เครื่องมือ ตัวอย่าง และกรณีศึกษา สำหรับองค์กรธุรกิจไทย รวมทั้งได้จัดทำหนังสือ "กลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคม : Creating Shared Value (CSV)" ประมวลบทความที่เกี่ยวข้องกับ CSV และเผยแพร่กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ CSV ไว้ที่เว็บไซต์ Thai CSR Network