ในการวางโรดแมพเพื่อปฏิรูปประเทศไทย "ภาคการท่องเที่ยว" ถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากในแต่ละปีนำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
กงกฤช หิรัญกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการท่องเที่ยว กล่าวว่า ภายใต้ภารกิจปฏิรูปการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะปฏิรูปด้านเศรษฐกิจของ สปช. ซึ่งได้แบ่งสาขาการทำงานชัดเจนแล้วนั้น
ล่าสุด ได้เรียกประชุมสมาชิกคณะอนุกรรมาธิการฯท่องเที่ยวที่ตอบรับเข้าร่วมทำงาน 15 ท่าน ประกอบด้วยบุคคลที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวมาร่วมกำหนดแนวทางปฏิรูป อาทิ นายวีรศักดิ์ โค้วสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนายสมประสงค์ โขมพัตร อดีตผู้ตรวจการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สำหรับข้อตกลงในการประชุมนัดแรก ได้กำหนดเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวไทยที่ต้องปฏิรูปให้เห็นผลในอีก10-20 ปีข้างหน้า คือ ต้องการให้ประเทศไทยเป็น "แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก" โดยเมื่อหากพูดถึงการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ไทยจะต้องติดอันดับต้นๆ ในการเป็น "จุดสนใจ"
โดยครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับจุดหมายที่แตกต่างจากที่ผ่านมา เนื่องจากหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่าให้ไทยเป็น "ศูนย์กลาง" อีกต่อไป เพราะคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้หารือและมีความคิดเห็นตรงกันว่าแล้วว่า ต่อไปมุมมองการท่องเที่ยวควรมองแบบเอาท์ไซด์-อิน คือลองมองจากภายนอกเข้ามา ไม่ใช่แบบอินไซด์-เอาท์ ด้านหนึ่งยังคงอ่อนไหวต่อความรู้สึกของประเทศที่อยู่ร่วมภูมิภาคอาเซียน
"หากเราดูตัวอย่างภูมิภาคที่การท่องเที่ยวพัฒนาแล้วอย่างทวีปยุโรป เขาก็เติบโตด้านท่องเที่ยวสูงโดยไม่ได้มีประเทศใดที่แสดงตัวหรือมีฐานะเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปต่อไปของไทย คือ การมุ่งเน้นการพัฒนาตัวเองให้มีความโดดเด่นขึ้นมา พุ่งเป้าไปที่การเป็นจุดหมายของตลาดความสนใจเฉพาะ (นิชมาร์เก็ต) มากขึ้น เป็นตลาดคุณภาพ"
ชูเอกลักษณ์ไทย-เข้าถึงชุมชน
ภายใต้เป้าหมายการสร้างความแข็งแกร่งของนิชมาร์เก็ต กงกฤช เผยว่า ต้องอยู่ภายใต้การชูเอกลักษณ์ "ความเป็นไทย" รวมถึงการเข้าถึง "ชุมชน" เพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ โดยหลักการดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานกำหนดแนวทางการทำงานในขั้นตอนการปฏิรูป ซึ่งต่อไปนี้คณะอนุฯ ท่องเที่ยวก็ต้องเริ่มมาหารือกันต่อเนื่องทุกสัปดาห์เพื่อเร่งให้มีความคืบหน้าตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลารับฟังข้อเสนอไว้
ทั้งนี้ในการวางแนวทางการปฏิรูปจะมีทั้งการกำหนดการทำงานเพื่อ "แก้ไขปัญหาเดิม" และวางแนวทาง "การพัฒนาในอนาคตที่ยั่งยืน" ไว้ ส่วนการปฏิรูปวิธีการทำงานขับเคลื่อนการท่องเที่ยวต่อไปนี้ จะ "พลิกมุมมอง" ในการกำหนดนโยบายเช่นกัน เพราะต่อไป "ภาคประชาชน" จะต้องเข้ามามี "บทบาทนำ" ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ตัวเอง ส่วนภาครัฐจะทำหน้าที่เพียงการ "ส่งเสริมและสนับสนุน"
ผุดเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษ นำร่อง
เขายังระบุว่า ต้องมาบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งหมด และกำหนดการทำงานร่วมกันใน "เขตพื้นที่การพัฒนาพิเศษต่างๆ" องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นหัวใจการทำงาน โดยมีหน่วยงานกลางจากภาครัฐเป็นผู้ผลักดัน หรือ pusher ให้แผนการพัฒนาเกิดขึ้นได้จริง ต่อไปใน "กลุ่มจังหวัด" ต้องหารือและพูดคุยกันในกลุ่มมากขึ้น
"ในปีนี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ค่าประเมินอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไว้สูง โดยเฉพาะในภาวะที่การส่งออกยังซบเซา ดังนั้นสัดส่วนของรายได้ท่องเที่ยวอาจจะสูงถึง 10-15% ของจีดีพีก็ได้ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ภารกิจการปฏิรูปเพื่อรองรับการเติบโต จะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก"
สำหรับการประชุมหารือครั้งต่อไปของคณะอนุกรรมาธิการท่องเที่ยวนั้น จะเร่งการตกผลึกข้อเสนอเรื่องการผลักดัน "นโยบายเร่งด่วน" (Quick Win) ที่รัฐบาลต้องการให้ออกมาก่อนเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหว ซึ่งรวมถึงการ "แก้ไขกฎหมาย" ที่มีหลายฉบับต้องเข้าสู่การพิจารณาต่อไป