เข้าสู่ระบบ

Login to your account

Username *
Password *
Remember Me

อียู รีฟอร์ม ปฏิรูปอะไรและอย่างไร ?

  • STEEP Category :
    Economy
  • Event Date :
    01 มีนาคม 2562
  • Created :
    04 มีนาคม 2562
  • Status :
    Current
  • Submitted by :
    Ploy Kanoktanaporn
Description :

สหภาพยุโรป (อียู) ก่อตั้งขึ้นมาจากสนธิสัญญามาสตริชต์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.1993 ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากว่าสามารถเปลี่ยนภาคพื้นยุโรปที่เคยเต็มไปด้วยสงครามให้กลายเป็นเขตการค้า (เทรดบล็อก) ที่แข็งแกร่งมากที่สุดเขตหนึ่งของโลก แต่ "สถาปัตยกรรมเชิงสังคม" ที่แม้จะมีข้อดีแต่ก็ยังมีจุดอ่อนเช่นกัน

เมื่อสภาวการณ์เปลี่ยนไปในทางลบ โดยเฉพาะในวิกฤตการณ์หนี้สินที่ผ่านมา บ่อนเซาะสถานะอียูสาหัสมาก นำไปสู่เสียงเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูป"

ปัญหาคือ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรปฏิรูป แต่ไม่มีแนวคิดที่ชัดเจน และได้รับการยอมรับว่าจะปฏิรูปอะไรกัน และทำอย่างไร

ปีที่ผ่านมา เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เสนอแนวคิดปฏิรูป "ยูโรโซน" หรือ 19 ชาติอียูที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ถูกต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากบรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ในเยอรมนี

แนวคิดของมาครงมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างวิกฤตหนี้ เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อรับประกันความเสี่ยงของระบบธนาคาร แทนที่กลไกเพื่อเสถียรภาพแห่งยุโรป (อีเอ็มเอส) ที่จะถูกปรับสถานะเป็นกองทุนการเงินแห่งยุโรป (อีเอ็มเอฟ)

ทั้งยังเสนอให้มีการแต่งตั้ง "รัฐมนตรีคลังยุโรป" พร้อมกับสถาบันเงินฝากเพื่อเป็นหลักประกันร่วมของยูโรโซน ในการจัดทำ "งบประมาณร่วม"

สิ่งเหล่านี้นอกจากนักวิชาการคัดค้านรัฐบาลเยอรมนีเองก็ยังไม่เห็นด้วย

นักวิชาการเหล่านั้น เช่น เจอร์เกน สตาร์ค ซึ่งเคยเป็นกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป และ ฮันส์-แวร์เนอร์ ซินน์ เชื่อว่ามีแนวทางการปฏิรูป "เชิงโครงสร้าง" ที่สามารถทดแทนแนวทาง "เสี่ยงสูง" ของมาครงได้

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีใครนำเสนอเป็นรูปธรรมถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เหมาะสมว่าคืออย่างไร กระทั่ง โวล์ฟกัง ช็อบเบิล อดีตรัฐมนตรีคลังเยอรมนีในช่วงวิกฤตยูโรโซน ให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์อาร์บีบีของทางการเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา

โดยยอมรับว่า อียูจำเป็นต้องมี "รัฐมนตรีคลัง" เพื่อให้นโยบายด้านการคลังมีพลังมากขึ้น แต่จำเป็นต้องมีงบประมาณร่วมจากการรวม "รายได้" ของชาติสมาชิก และมี "นโยบายการคลังร่วม" ที่เข้มแข็งก่อน

เหตุผลสำคัญก็คือ หากปราศจากสองประการดังกล่าวแล้ว มีเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังยุโรปอย่างเดียวไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ เป็นแค่ตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ปราศจากอำนาจใด ๆ ในมือ

อีกหนึ่งข้อเสนอของช็อบเบิลก็คือ อียูจำเป็นต้องยกเลิกข้อกำหนดที่ให้การตัดสินในเรื่องสำคัญ ๆ ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสมาชิก

เขาเชื่อว่าทำให้แม้ชาติที่พัฒนาช้าที่สุดในอียูก็ยังสกัดกั้นทุกอย่างได้ถ้าต้องการแนวทางใหม่ที่เสนอคือ การใช้เสียงข้างมากในการชี้ขาด กำหนดเป็น 55% ของจำนวนรัฐสมาชิก แต่ต้องมีประชากรรวมกันแล้วเท่ากับ 65% ของประชากรอียูทั้งหมด จะถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่กำหนดเป็น "ความตกลงร่วม"

ในเวลานี้องค์กรที่มีอำนาจนิติบัญญัติของอียู คือ "คณะกรรมาธิการยุโรป" (Council of the EU) ซึ่งประกอบขึ้นจากสมาชิกระดับรัฐมนตรีของชาติสมาชิก จำเป็นต้องมีมติเป็นเอกฉันท์จึงสามารถชี้ขาดในเรื่องเชิงนโยบายการคลัง, นโยบายการต่างประเทศ, นโยบายความมั่นคง, การขยายสมาชิกภาพ และการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกบางด้านออกมาเป็นบทบัญญัติ ส่วนอื่น ๆ ที่เหลืออาศัยเสียงข้างมากในการตัดสินชี้ขาด

แต่ใน "คณะมนตรียุโรป" (European Council) ประกอบด้วยประมุขหรือผู้นำรัฐบาลของชาติสมาชิกที่ไม่ได้มีอำนาจนิติบัญญัติ ยังจำเป็นต้องชี้ขาดทุกอย่างโดยเอกฉันท์ ไม่มีเสียงค้านแม้แต่ชาติเดียว

โวล์ฟกัง ช็อบเบิล เป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอดและทรงอิทธิพลของเยอรมนี ข้อเสนอของเขาคล้ายคลึงกับข้อเสนอของผู้นำฝรั่งเศส เพียงอยู่ในกรอบใหญ่โตกว่า

จนถึงตอนนี้เสียงวิจารณ์เรื่องนี้ยังไม่ชััดเจนนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าข้อเสนอของเขาจะได้รับการยอมรับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางปฏิบัติที่ข้อเสนอปฏิรูปทั้งหลายต้องผ่านความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกทุกชาติแล้ว ยิ่งมองเห็นความยากลำบากของเรื่องนี้ได้ชัดเจนอย่างยิ่ง