ทุกวันนี้มีข้อมูลข่าวสารมหาศาลหมุนวนอยู่รอบตัว แต่มีเพียงน้อยนิดที่ถูกนำไปบริหารจัดการเพื่อสร้างประโยชน์อย่างคุ้มค่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มูลนิธิเอเชีย, มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และองค์กรเครือข่าย ได้ยกประเด็นนี้ หารือบนเสวนา "ว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ตและการเตรียมตัวขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย รัฐโปร่งใสด้วย "Open Data" "ไกลก้อง ไวทยการ" ผู้จัดการทั่วไป สถาบันเชนจ์ฟิวชั่นกล่าวว่า ภาครัฐทั่วโลกเริ่มตื่นตัวในการนำข้อมูลภาครัฐมาเปิดเผยมากขึ้น (Open Data) หลังจากพบว่าแนวคิดที่ถือว่าข้อมูลภาครัฐคือสิ่งไม่ต้องเปิดเผย ได้สร้างปัญหามาก โดยเฉพาะในช่วงเกิดภัยพิบัติที่ไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาเชื่อมโยงกันให้ตัดสินใจแก้ปัญหาได้
แม้ "มหาอุทกภัยปี 2554" จะทำให้ภาครัฐไทยเริ่มตระหนักและเปิดเผยข้อมูลมาก แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่นำไปประมวลผลต่อได้ยาก เช่น ชุดภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีรูปแบบไฟล์ข้อมูลที่แตกต่างกัน
Open Data ที่ดีที่สามารถนำไปต่อยอดแก้ปัญหาได้รวดเร็ว
ขณะเดียวกัน Open Data ยังทำให้การบริหารงานของรัฐบาลโปร่งใสขึ้นด้วย อย่างกรณี ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศนโยบายในปี 2552 ที่จะปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส เช่น การปรับเปลี่ยนเว็บไซต์ทำเนียบขาวให้เข้าถึงง่ายขึ้น มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ รวมทั้งมีการสร้างเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลการใช้งบประมาณในระดับโครงสร้าง อาทิ USASpendind.gov ที่มีการนำข้อมูลการกระจายและใช้งบประมาณของรัฐต่าง ๆ มาเปิดเผย
"ชุติพร อนุตริยะ" อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยชินวัตรกล่าวว่า ภาครัฐไทยเริ่มมีการแชร์ข้อมูลแล้วผ่าน data.go.th แต่ปริมาณข้อมูลยังน้อย อุปสรรคสำคัญคือแนวคิดของหลายหน่วยงานที่มองว่าข้อมูลภาครัฐคือความลับ